สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๑  ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคน ในความผิดอันเดียวกัน ในกรณีเดียวกัน ให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5481/2548 พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 118 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117? ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท" ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย ฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท มิได้มีข้อจำกัดว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคนให้ปรับรวมกันตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใด ซึ่ง ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติว่า "บทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" เมื่อ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคลตาม ป.อ. มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคนในความผิดอันเดียวกัน ในกรณีเดียวกัน ให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล" ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคลชอบแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048/2545 ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว มิใช่ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน เมื่อจำเลยถูกฟ้องคดีนี้เพียงผู้เดียว จำเลยจึงเป็นบุคคลเดียวที่กระทำความผิดและต้องถูกลงโทษตามคำพิพากษา บุคคลอื่นที่ร่วมกระทำความผิดเมื่อยังไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดอันจะถูกลงโทษคำพิพากษาในคดีนี้ร่วมกับจำเลยได้ กรณีไม่อาจแบ่งแยกลดจำนวนความรับผิดสำหรับโทษในความผิดครั้งแรกนี้แก่จำเลยได้

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4470/2544 ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 37 ตรีซึ่งห้ามมิให้เรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องขนถ่ายสิ่งของใด ๆ โดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ซึ่งห้ามผู้ใดช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัดนั้น บทบัญญัติทั้งสองได้ระบุเน้นชัดไว้แล้วว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมอากรเข้าด้วย และปรับสองเท่าของราคาของ ตามลำดับ ดังนั้น หากศาลจะปรับจำเลยแต่ละคน คนละสี่เท่าและสองเท่า ก็จะเป็นการปรับเกินกว่าโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้และมาตรา 120 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากรฯ ได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับกฎหมายอื่นให้ยกเอาพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนี้ จึงจะนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 31 ซึ่งบัญญัติให้ศาลลงโทษปรับผู้กระทำผิดหลายคนในความผิดเดียวกัน ในกรณีเดียวกันเรียงตามตัวบุคคลมาใช้บังคับไม่ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3341/2541 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่าต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัว ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสองมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ แต่ก็เป็นปัญหา ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองจึงยก ขึ้นฎีกาได้ ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 50 บัญญัติว่าผู้ฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดหรือที่ยังขาดอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาทนั้น หมายความว่า จำเลยแต่ละคนจะต้องถูกลงโทษปรับเป็นจำนวนสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศอันเป็นยาสูบตามกฎหมาย และเป็นยาสูบที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ยาสูบ คิดเป็นค่าแสตมป์ที่จะต้องปิดเป็นเงินทั้งสิ้น 12,138 บาท ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยทั้งสองรวมกันมาเป็นเงิน 182,070 บาท จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 50 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา ส่วนโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองฎีกาขึ้นมาอ้างว่าศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาก็จะเปลี่ยนแปลงโทษให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองหาได้ไม่และหากศาลจะลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 คนละ 45,517.50 บาท ตามที่ จำเลยทั้งสองฎีกามา ก็จะเป็นการลงโทษปรับที่ต่ำกว่าโทษที่ กำหนดตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไขโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมาได้เช่นกัน

 

บทความที่น่าสนใจ

- วิธีการประหารนักโทษต้องโทษประหาร

- คำว่า ประมาท ตามกฎหมายมีความหมายอย่างไร